ทำไมจีนเปิดประตูให้Teslaเจาะตลาดรถ EV ปล่อยให้แบรนด์ท้องถิ่นเจ็บตัวไปก่อน
จากบทความความสำเร็จของTesla ในการเจาะตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ในแดนมังกรที่นำเสนอในสัปดาห์แล้ว เทสลาได้ชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดก้อนโตจากคู่แข่งท้องถิ่นหลังจากส่ง Model 3 ที่ผลิตในโรงงานที่นครเซี่ยงไฮ้ ลุยตลาดจีนในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยยอดขายรถเทสลา “เมด อิน ไชน่า” แซงหน้ารถ EV ท้องถิ่นมาเป็นอันดับหนึ่งในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ส่วนครึ่งปีหลังแม้แบรนด์รถ EV จีน ตีตื้นยอดขายขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ เทสลาก็ยังมียอดขายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนจนถึงเดือนต.ค.
ทั้งนี้ Tesla จ้าวแห่งแบรนด์รถ EV สัญชาติสหรัฐฯของนาย อีลอน มัสก์ เข้ามาตั้งโรงงาน Tesla Gigafactory ที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2018 โดยได้สิทธิประโยชน์มากมายจากนโนบายใหม่ของรัฐบาลจีน ทั้งการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถด้วยทุนเดี่ยวหมายถึงเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการอุดหนุนการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับบริษัทรถท้องถิ่นจนสามารถหั่นราคารถหรูอย่าง Tesla ให้ต่ำในระดับที่ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นสามารถซื้อเป็นเจ้าของได้
ขณะที่เทสลาเข้ามาในตลาดรถEVจีน คู่แข่งท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งกำลังประสบปัญหาการเงิน... ตัวอย่างเช่น ซีอีโอของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีน NIO นาย วิลเลียม หลี่ หรือ หลี่ ปิน ผู้มีฉายา “อีลอน มัสก์แห่งเมืองจีน” ได้แจ้งกับนักลงทุนในเดือนมี.ค.ปีนี้ว่า NIO อาจมีทุนดำเนินกิจการไม่พอสำหรับอีก 12 เดือนข้างหน้า แม้ปัญหาหลายอย่างของ NIO เกิดขึ้นเพราะตัวเอง แต่ความท้าทายจาก Tesla ยิ่งทับถมจนทำให้ราคาหุ้นของ NIO ดิ่งเหวลงที่ 1.19 เหรียญสหรัฐเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว
มาดูว่า ทำไมจีนเปิดประตูให้ Tesla เข้ามาเจาะตลาดของตนพร้อมประเคนสิทธิประโยชน์มากมายจนสามารถชิงเค้กก้อนโตจากคู่แข่งท้องถิ่นได้ ผู้สังเกตการณ์ที่เกาะติดการขยายอิทธิพลจีนบนเวทีโลก นาย James Kynge บรรณาธิการแห่ง Tech Scroll Asia มองว่ามันเป็นการขุดบ่อล่อปลาตัวใหญ่ของของพญามังกร
โดยการเข้ามาของ Tesla จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างแรกที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ปลาดุก” (catfish effect) ซึ่งหมายถึงการใส่ปลาดุกเข้าไปในกระชังปลาซาร์ดีนเพื่อกระตุ้นปลาซาร์ดีนที่มักอยู่นิ่งๆและเฉาตายกันเกลื่อน ปลาดุกเป็นมือพิฆาตซาร์ดีนจะไล่ฟัดเหยื่อ ทำให้ปลาซาร์ดีนต้องดิ้นรนหนีเอาชีวิตรอด การดิ้นรนนี้เองทำให้ปลาซาร์ดีนแข็งแรงขึ้นและอัตราการตายของพวกมันก็น้อยลงด้วย ผู้เลี้ยงขายซาร์ดีนตัวเป็นๆได้ราคาดีกว่าซาร์ดีนตายเน่า
การที่ Tesla เข้ามาในตลาดจีนก็จะเกิด “ผลกระทบปลาดุก”เช่นเดียวกัน โดยจะบีบให้กลุ่มผู้ผลิตรถ EV ในท้องถิ่นต้องฮึดออกแรงสู้กับคู่แข่งต่างชาติด้วยการเร่งพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
จีนยังมองว่าการเข้ามาของ Tesla ในตลาดจีน จะเกิด “แอปเปิลแห่งภาครถยนต์”
ขึ้น กล่าวคือตอนที่บริษัทแอปเปิลเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในจีน โดยกฎข้อบังคับการลงทุนระบุให้แอปเปิลต้องขยายห่วงโซ่อุปทานจีน (supply chain) ใช้แหล่งวัตถุดิบการผลิตภายในท้องถิ่น จากนั้นก็จะเกิดเอฟเฟกต์การรั่วไหล (spillover effects) ตามมา โดยบรรดาซับพลายเออร์จีนสามารถล้วงเทคโนโลยีสมาร์ตโฟนของบริษัทแอปเปิลไปปรับเปลี่ยน และในที่สุดก็ตกอยู่ในมือคู่แข่งจีน
การที่กลุ่มผู้ผลิตสมาร์ตโฟนจีน ทั้งหัวเหวย (Huawei) เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ออปโป้ (Oppo) วีโว่ (Vivo) และแบรนด์ท้องถิ่นอื่นๆ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้นมีเหตุปัจจัยมาจากการที่แอปเปิลสร้างบริษัทราว 380 รายในห่วงโซ่ซับพลายในจีนด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด อาทิ ซับพลายเออร์จีนของแอปเปิลคือ Luxshare-ICT ได้กลายเป็นคู่แข่งตัวเอ้ของยักษ์ใหญ่ ฟ็อกซ์คอนน์แห่งไต้หวัน ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างผลิตของแอปเปิล
นี่คือ “ผลกระทบรั่วไหล” ที่ดึงดูดใจผู้นำจีนให้เปิดประตูรับ Tesla เข้ามาแบบทุ่มไม่อั้น โดยยอมให้คู่แข่งท้องถิ่นเจ็บตัวในชั่วระยะสั้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ระยะยาวที่คุ้มค่ามากกว่า