ค่ายแอร์ปรับกลยุทธ์สู้ตลาดวูบ9% เพิ่มไลน์อัพ-ขยายช่องทาง-ชูนวัตกรรม

ค่ายแอร์ปรับกลยุทธ์สู้ตลาดวูบ9% เพิ่มไลน์อัพ-ขยายช่องทาง-ชูนวัตกรรม

เผยแพร่:    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
 
 

ผู้จัดการรายวัน360 – ตลาดแอร์ปี61สุดอืด วูบ 9% เหตุอากาศไม่ร้อนตามคาด ผู้ประกอบการ ต้องปรับกลยุทธ์ ห้ำหั่น แอร์ไมเดียผนึกทีมโตชิบาลุย
เพิ่มไลน์อัพ-ขยายช่องทาง ดันปีนี้โตถึง 54% ด้านไฮเออร์ขยายกลุ่มไฮเอนด์ เพิ่มจำนวนดีลเลอร์ ส่วนไดกิ้น ผุดศูนย์ดุแลและบริการพร้อมโหมอินเวอร์เตอร์
นายไบรอัน จ้าว ประธานบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยปี2561นี้ อยู่ในช่วงฟื้นตัวและมีแนวโน้มดีขึ้น ด้วยสถิติการเติบโตประมาณ 4.1% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเรื่องการท่องเที่ยว แต่ธุรกิจเครื่องปรับอากาศกลับไม่เติบโตตามเศรษฐกิจ โดยติดลบ 9.8% ปัจจัยหลัก คืออากาศไม่ร้อนตามที่คาดการณ์ และผู้บริโภคใช้จ่ายเงินไปกับปัจจัยที่จำเป็นด้านอื่นๆ

*** “แอร์ไมเดีย” ผนึกทีมโตชิบาโต54% 

สำหรับเครื่องปรับอากาศ Midea เติบโต 54% ในปีนี้ เพราะปีนี้โตชิบา ไทยแลนด์ ได้เข้ามาดูแลแบรนด์Midea อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในเรื่องทีมบริหาร การดูแลจัดการทีม รวมถึงบริการหลังการขายที่ใช้ศูนย์บริการเดียวกับโตชิบา ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตลาดมากขึ้น ปัจจัยเรื่องการลงทุนทางการตลาด รวมถึงตลาดตอบรับและเชื่อมั่นในสินค้าแบรนด์จีนมากขึ้น

จากนี้ไป ไมเดีย จะทำการตลาดแอร์เชิงรุกมากขึ้น ทั้งการใช้งบการตลาด 12% จากยอดขายแอร์ การจัดโรดโชว์ กิจกรรมส่งเสริมการขาย กิจกรรมหน้าร้าน การใช้สื่อโฆษณาหลากหลาย การใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการขยายช่องทางโมเดิร์นเทรดมากขึ้นด้วย ซึ่งได้เริ่มแล้วเช่นที่ โฮมโปรกับเพาเวอร์บาย จำหน่ายเฉพาะแอร์เคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันช่องทางหลักของแอร์ไมเดียเป็นดีลเลอร์มากกว่า 400 รายและร้านขายสินค้าเฉพาะทาง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของแอร์ไมเดียเป็น บีทูซี 95%

โดยบริษัทฯตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดแอร์ในไทยในเชิงปริมาณเป็น 4.5% ในปี62ด้วยการเน้นเรื่องผลิตภัณฑ์และการทำการตลาด และเพิ่มแชร์เป็น 7% ในปี 2563 ด้วยการเน้นการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีครอบคลุมมากขึ้น และในปี2564เน้นสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นในแบรนด์ให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ เพิ่มแชร์เป็น 9% และในปี2565จะเน้นการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่แอดวานซ์และทันสมัย บริหารช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงการทำกิจกรรมการตลาด การส่งเสริมการขาย และการสร้างแบรนด์ จะเพิ่มแชร์ในตลาดแอร์เป็น 13% ให้ได้ จากปีนี้(2561) มีแชร์ในตลาดแอร์ในไทย 2% 

นายไบรอัน กล่าวต่อว่า การให้ความสำคัญกับสินค้า โดยเพิ่มไลน์อัพของเครื่องปรับอากาศกลุ่มอินเวอร์เตอร์ใหม่มากถึง 5ซีรี่ส์ เป็นเครื่องปรับอากาศแบบติดตั้งบนผนังรุ่นใหม่จำนวน 3ซีรี่ส์ และเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์แบบฝังฝ้าและติดเพดาน อีก 2ซี่รี่ส์ รวม5 ซีรี่ส์มากกว่า 20 รุ่น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย ในปีหน้าเราตั้งเป้าเติบโต 74% ขณะที่ปี2561นี้เติบโต 54% จากปีที่แล้ว และหวังจะเป็นแบรนด์เครื่องปรับอากาศ Top 3 ในประเทศไทยภายใน 5 ปีในแง่ปริมาณ

นายธนาคม อารีกุล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ไมเดีย เปิดเผยว่า ตลาดรวมแอร์ในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ระหว่างแอร์อินเวอร์เตอร์กับแอร์นอนอินเวอร์เตอร์ โดยเมื่อช่วงปี 2559 แอร์อินเวอร์เตอร์มีสัดส่วนประมาณ 27% ส่วนแอร์นอนอินเวอร์เตอร์ สัดส่วน 73% ส่วนในปี 2560 แอร์อินเวอร์เตอร์มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 42% ส่วนแอร์นอนอินเวอร์เตอร์สัดส่วนลดลงเหลือ 58% และล่าสุดปี2561 แอร์อินเวอร์เตอร์มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 54% ขณะที่แอร์นอนอินเวอร์เตอร์ลดสัดส่วนลงเหลือ 46% 

*

 

**”ไฮเออร์” ขยายไฮเอนด์เพิ่มดีลเลอร์

นายจาง เจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไฮเออร์จากจีน เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทฯวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 5,800 ล้านบาท เพิ่มจากปีนี้ (2561) ที่ทำได้ประมาณ 3,400 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 50% ขณะที่ตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้มีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่เติบโตต่ำมากแค่ 3-4% เท่านั้น ซึ่งตัวผลักดันการเติบโตของบริษัทฯในปีหน้าก็ยังคงเป็น สินค้าหลัก 4 กลุ่มคือ แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และตู้แช่ เป็นต้น

นายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานคณะผู้บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทฯมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้า(2562) แนวโน้มน่าจะดีกว่าปีนี้บ้าง เพราะปัจจัยต่างๆ เช่น มีการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งากรลงทุนด้านอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆของภาครัฐบาล กำลงัซื้อของผู้บริโภคน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไฮเออร์เองก็คงจะต้องทำการตลาดเชิงรุกในการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุดด้วย

แผนธุรกิจหลักปี 2562 นายธเนศร์ กล่าวว่า ไฮเออร์ วางกลยุทธ์หลักไว้ดังนี้ 1. การนำเสนอสินค้าทุกกลุ่มระดับตั้งแต่มิดเดิ้ลถึงไฮเอนด์ และในทุกกลุ่มสินค้าที่ทำตลาดอยู่ ซึ่งหลักๆ เช่น คือ แอร์ ประมาณ 10 รุ่นใหม่, ตู้เย็น มีสินค้าใหม่ลงตลาดประมาณ 20% เป็นต้น และสร้างความแตกต่างของสินค้ากับคู่แข่ง ทั้งเรื่องการออกแบบและนวัตกรรม เพื่อรองรับการแข่งขัน เช่น แอร์พรีเมียมรุ่นใหม่ที่ช่วยกรองมลพิษในอากาศเทียบเท่าเครื่องกรองอากาศทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้น เป็นต้น 

2.การเพิ่มจำนวนดีลเลอร์เป็น 950 ราย จากปัจจุบันประมาณ 549 ราย ซึ่งยังมีช่องว่างและโอกาสอีกมาก เนื่องจากในประเทศไทยมีดีลเลอร์ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้ามากถึง 3,400 กว่าร้านค้า หมายความว่า ไฮเออร์ยังมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของภาพรวมเลย

3. การเพิ่มจำนวนพนักงานขาย ตั้งเป้าปีหน้าเพิ่ม 90 คน หรือเป็นกว่า 200 คน จากปี61 ที่เพิ่มมากเป็น 70 คน ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิม พนักงาน 1 คนต้องดูแลดีลเลอร์ถึง 10 ร้านค้า แต่ขณะนี้เหลือเฉลี่ย 5 ร้านค้าต่อ 1 คน 4.การทำตลาด กิจกรรม โรดโชว์ โฆษณา ต่างๆ ด้วยงบการตลาดประมาณ 250-300 ล้านบาทต่อปี และเน้นการสร้างแบรนด์โดยใช้ “บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าทั้งหมดต่อเนื่องเป็นปีที่2 และทำสื่อโฆษณา ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการสนับสนุนงานวิ่งมาราธอนซึ่งช่วงที่ผ่านมาสนับสนุนเฉพาะงานในเชียงใหม่ ปีหน้าจะเริ่มทำกิจกรรมในกรุงเทพฯด้วย

 

มร.จาง เจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเออร์ เปิดเผยว่า ยอดขายในปี 2561 ที่คาดว่าเมื่อสิ้นไตรมาส 4 รายได้โดยรวมประมาณ 3,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยผลประกอบการของไฮเออร์ในปี 2561 นั้น ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 4,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 ที่ทำได้ 2,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอดขายรวมปีนี้แม้ต่ำกว่าเป้าหมายแต่ก็ถือว่า เป็นที่น่าพึงพอใจ หลายกลุ่มผลิตภัณฑ์มีการเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แบ่งเป็นรายได้จากเครื่องปรับอากาศ 1,610 ล้านบาท, ตู้เย็น 610 ล้านบาท, เครื่องซักผ้า 460 ล้านบาท ตู้แช่แข็ง 360 ล้านบาท เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ 185 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆ 175 ล้านบาทตามลำดับ 

โดยไฮเออร์ มีสินค้ากลุ่ม แอร์ ตู้เย็น และ เครื่องซักผ้า เป็นหลักในการทำตลาดในไทย ปัจจุบัน แอร์ไฮเออร์ มียอดขายในปี61นี้ประมาณ 1,600 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 8% อยู่ในอันดับที่ 5 ส่วนปีหน้าตั้งเป้าหมายเพิ่มแชร์เป็น 10.7% ขึ้นเป็นที่4ในตลาด โดยใช้งบการตลาดประมาณ 10 ล้านบาท , ส่วนตู้เย็น ปีนี้ไฮเออร์มีแชร์ 5.8% เป็นที่ 4 ในตลาด ปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มแชร์เป็น 8% อันดับที่ 4 ขณะที่ เครื่องซักผ้า มีแชร์ 4% เป็นที่ 3 ในตลาด ปีหน้าเพิ่มเป็น 10% ยังคงเป็นที่ 3

นายธเนศร์ กล่าวต่อว่า ปีนี้ที่เติบโตได้มากถึง 26% เนื่องจากการทำตลาดเต็มที่ สรุปกลยุทธ์หลักคือ 1. ขยายช่องทางการตลาดสู่ระบบออนไลน์ 2. การทำตลาดและนำเสนอสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง และการเน้นไปที่ตลาดมิดเดิ้ลถึงไฮเอนด์ และมีการวางโครงสร้างราคาและผลกำไรของสินค้าอย่างชัดเจน การเพิ่มจำนวนดีลเลอร์หรือร้านค้าเป็น 549 ราย จากเดิมปีที่แล้วมีเพียง 225 รายเท่านั้น รวมถึงการแบ่งแยกทีมขายและทีมการตลาดอย่างชัดเจนในแต่ละกลุ่มสินค้า

ในปี 62 ช่วงไตรมาสแรกไฮเออร์จะรุกหนักการทำตลาดเครื่องปรับอากาศ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ ฟังก์ชั่นใหม่ เสริมด้วยเทคโนโลยีที่มีเฉพาะสินค้าไฮเออร์เท่านั้น โดยเฉพาะรุ่นผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่กลุ่มพรีเมียมรุ่น Puri Cool Series ที่เป็นแบรนด์แรกและแบรนด์เดียว ที่มาพร้อมฟังก์ชัน Super IFD ฟิลเตอร์ที่ช่วยกรองมลพิษในอากาศ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Self-Cleaning ที่เครื่องปรับอากาศสามารถล้างตัวเองได้ สำหรับกลยุทธ์ของผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศไฮเออร์ จะปรับตำแหน่งของเครื่องปรับอากาศไฮเออร์ให้อยู่ในระดับไฮเอนด์ ทำให้เครื่องปรับอากาศไฮเออร์เติบโตในประเทศไทยอย่างรอบด้าน

 

*** “ไดกิ้น” ผุดศูนย์ดูแลลูคก้า

ดร.พรเทพ พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุดไดกิ้น ได้เปิดตัว Daikin Customer Care Center โดยใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารบนพื้นที่รวมกว่า 1,300 ตารางเมตร เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์ดูแลลูกค้าของไดกิ้น ในส่วนสำนักงานใหญ่ ซึ่งครอบคุมพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑล ประกอบด้วย ส่วนงานวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจใหม่ด้านงานบริการ, ส่วนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพงานบริการ, ส่วนงานซ่อมบำรุง, เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย และเครื่องปรับ อากาศเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีส่วนงานขายสัญญาบริการครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มตามประเภทเครื่องปรับอากาศและศูนย์จำหน่ายอะไหล่แท้ไดกิ้น

"ศูนย์แห่งนี้ รองรับบริการหลังการขายและดูแลลูกค้าในทุกประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเครื่องปรับอากาศทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และอนาคตขยายฟังก์ชั่นงานต่างๆ ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้มี ไปยังสำนักงานบริการสาขาในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมี 8 สาขา นอกจากนี้ยังมี โมบายเซอร์วิสที่สุราษฎร์ธานีและสงขลาเพื่อดูแลลูกค้าให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย”

นายอาคิฮิสะ โยโคยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ปี2562 หลังจากที่ไดกิ้นออกสินค้าใหม่ทั้งกลุ่มที่พักอาศัย และเชิงพาณิชย์ คาดว่าตลาดแอร์รวมมูลค่าจะโตขึ้น 6% หรือกว่า 50,000 ล้านบาท จากปี 2561 ปิดที่ 47,300 ล้านบาท และไดกิ้นจะมีส่วนแบ่งการตลาด 28% ในปี 2562 เป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 ที่จะจบในเดือนมีนาคม 2562 นี้ บริษัทคาดว่าจะทำยอดขายเพิ่ม 15% มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ไดกิ้นรักษาความเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 26% ครองอันดับหนึ่งในตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนในกลุ่มเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ที่มีสัดส่วน 60%ของตลาดรวม จาก 44% ในปี 2560 ทางไดกิ้นได้เปิดตัวสินค้าใหม่ มั่นใจว่าจะรักษาความเป็นผู้นำด้านตลาดอินเวอร์ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 29 % ในปี2562 และคาดว่าสัดส่วนมูลค่าตลาดระบบอินเวอร์เตอร์จะเพิ่มจาก 65%ในปี 2562.

 

นายอาคิฮิสะ โยโคยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ปี2562 หลังจากที่ไดกิ้นออกสินค้าใหม่ทั้งกลุ่มที่พักอาศัย และเชิงพาณิชย์ คาดว่าตลาดแอร์รวมมูลค่าจะโตขึ้น 6% หรือกว่า 50,000 ล้านบาท จากปี 2561 ปิดที่ 47,300 ล้านบาท และไดกิ้นจะมีส่วนแบ่งการตลาด 28% ในปี 2562 เป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 ที่จะจบในเดือนมีนาคม 2562 นี้ บริษัทคาดว่าจะทำยอดขายเพิ่ม 15% มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ไดกิ้นรักษาความเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 26% ครองอันดับหนึ่งในตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนในกลุ่มเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ที่มีสัดส่วน 60%ของตลาดรวม จาก 44% ในปี 2560 ทางไดกิ้นได้เปิดตัวสินค้าใหม่ มั่นใจว่าจะรักษาความเป็นผู้นำด้านตลาดอินเวอร์ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 29 % ในปี2562 และคาดว่าสัดส่วนมูลค่าตลาดระบบอินเวอร์เตอร์จะเพิ่มจาก 65%ในปี 2562.
Visitors: 3,500,764